
เมื่อ โควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่จะระบาดในช่วงฤดูฝน หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ และอีกปัจจัยที่ทำให้แพร่กระจาย คือ การเปิดเทอมของโรงเรียน แม้จะถูกคาดคะเนว่า จะเบาบางลงในช่วงปลายกันยายน แต่ก็ต้องไม่ประมาท!
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ฤดูกาลของโควิด 19 มาถึงแล้ว การติดเชื้อในช่วงนี้จะเริ่มสูงสุดอย่างรวดเร็ว จะเห็นผู้ป่วยหรือการติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ทุกคนมีส่วนช่วยในการลดการแพร่กระจายของโรค
หลากปัจจัยส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19
- ผู้ที่ติดเชื้อแล้วเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็มีโอกาสเป็นได้อีก ผู้ที่ยังไม่เคยเป็น ก็จะเป็นเพิ่มขึ้น
- เชื่อว่าเมื่อผ่านฤดูกาลนี้ มากกว่า 90% ของประชากรไทยจะเคยติดเชื้อ 1-2 ครั้ง
- ความรุนแรงของโรคถึงแม้ว่าจะน้อยลง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง ที่มีโรคประจำตัวและภูมิต้านทานต่ำ โรครุนแรงได้
- การตรวจวินิจฉัยแต่เริ่มแรก และรีบให้การรักษาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นยาต้านไวรัส จะช่วยลดความรุนแรงได้มาก ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีอาการโรคทางเดินหายใจทุกราย ควรตรวจว่าเป็นโควิด 19 หรือไม่ อย่างน้อย ATK ก็ยังดี ในรายที่ตรวจแล้ว ให้ผลลบหรือขีดเดียว ถ้ายังสงสัย วันต่อๆมาอาจจะต้องตรวจซ้ำ
- โรคทางเดินหายใจที่จะเป็นร่วมกันในฤดูกาลนี้ จะมีทั้ง ไข้หวัดใหญ่ RSV แม้กระทั่ง มือเท้าปาก ก็จะเริ่มเพิ่มมากขึ้น ตามฤดูกาลของทุกปี
“เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะลดการแพร่กระจายของโรคให้ได้น้อยที่สุด เด็กป่วยหรือมีอาการ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ควรหยุดอยู่บ้าน ไม่ไปโรงเรียน การล้างมือเป็นประจำ ดูแลสุขอนามัย ถ้าป่วยควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค ทุกคนช่วยกัน จำนวนผู้ป่วยก็จะลดน้อยลงเอง และจะไปเบาบางหลังเดือนกันยายน” หมอยง กล่าวทิ้งท้าย
คงต้องฝากไปถึงบรรดาผู้ปกครองที่ต้องเข้มงวดกับบุตรหลานเพิ่มขึ้น และต้องสร้างภูมิป้องกันสกัดกัน การซีนวัคซีนโควิด 19 ที่ขณะนี้ หลายพื้นที่เปิดให้ฉีดฟรี ได้ตามสมัครใจ เด็กตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 18 ปี รวมไปถึงวัคซีนชนิดผสม รุ่นใหม่ (Bivalent) ก็มีให้เลือกเช่นกัน ดูตามความเหมาะสม ซึ่งต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด19 ได้อย่างมั่นใจว่า “ไร้ซึ่งพิษสง”